การหายจากบาดแผลเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่รอยแผลเป็นที่เหลือทิ้งไว้เป็นสิ่งเตือนใจถึงอาการบาดเจ็บที่ผ่านมาเหล่านั้น การเลือกยาทาแผลเป็น เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยในการสมานแผลอย่างเหมาะสมและทำให้รอยแผลจางลงหรือเหลือให้เห็นน้อยที่สุด ด้วยตัวเลือกที่มีอยู่มากมาย การตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับความต้องการจึงเป็นเรื่องยากเราจึงมาแชร์ 5 ทริคที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างง่ายดายและลดรอยแผลเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ทริคที่ 1 รู้ถึงสาเหตุว่าแผลเป็นเกิดมาจากอะไร
แผลเป็นเกิดจากเนื้อเยื่อของเราได้รับบาดเจ็บร่างกายจึงพยายามซ่อมแซมตัวเองโดยสร้างคอลลาเจนขึ้นมาช่วยสมานเนื้อเยื่อที่เสียหาย ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ ดังนี้
1. การบาดเจ็บหรือบาดแผลที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือการทำงานที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ สามารถทำให้เกิดรอยแผลได้ รอยแผลที่เกิดขึ้นสามารถมีลักษณะและขนาดต่างๆ ไปตามความรุนแรงของบาดแผลนั้นๆ ตั้งแต่รอยขีดข่วนเล็กๆไปจนถึงรอยขนาดใหญ่
2. การผ่าตัดเป็นกระบวนการที่ใช้ในการรักษาทางการแพทย์หรือศัลยกรรมซึ่งอาจเป็นการกำจัดเนื้อเยื่อที่เสียหายหรือเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย เพื่อรักษาโรค ลดความเจ็บปวดต่างๆที่เกิดขึ้น การผ่าตัดมักจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นไม่ว่าจะเป็น การถูกทำลายเนื้อเยื่อขณะผ่าตัด และเนื้อเยื่อที่ถูกสร้างมาใหม่นั้นหลายเป็นแผลเป็นในเวลาต่อมา
3. โรคหรือสภาวะเฉพาะบางอย่าง เช่น สภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ อาจทำให้แผลหายช้าและเกิดรอยแผลได้ง่ายขึ้น
4. พันธุกรรม เกิดขึ้นได้จากดีเอ็นเอหรือเซลล์กระตุ้นในการสร้างผิวหนัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปยังลูกได้หากมีประวัติเกิดคีลอยด์จากรุ่นสู่รุ่นต่อกันมา
เมื่อรู้ถึงสาเหตุหลักๆที่สามารถทำให้เกิดรอยแผลเป็นแล้วสิ่งที่ต้องรู้ไว้อีกอย่างเลยก็คือชนิดของรอยแผลเป็นเพื่อให้สามารถจำแนกและเข้าใจได้ถูกต้องเพื่อตัดสินใจในการเลือกยาทาแผลเป็นให้ถูกกับประเภทของรอยแผลนั้นๆเพราะหากใช้ไม่ถูกนอกจากจะชะลอการหายของแผลเป็นแล้วยังลามไปถึงการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ ทริคข้อต่อไปเราจะพามารู้จักกับประเภทของรอยแผลเป็นกัน
ทริคที่ 2 รู้ถึงชนิดของรอยแผลเป็นว่ามีอะไรบ้าง
แผลเป็นแบบนูนเกิน (Hypertrophic Scar)
ลักษณะของแผล แผลเป็นแบบนูนเกินมักเป็นแผลที่เกิดขึ้นจากการที่ผิวหนังถูกทำลาย โดยที่เนื้อหนังที่เกิดแผลจะเจริญเติบโตมากเกินไป ทำให้แผลมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อนูนขึ้น และมักเกิดขึ้นบริเวณที่อุดมไปด้วยเนื้อเยื่อรอบแผล เช่น บริเวณหลัง คอ หรือหน้าอก ซึ่งสาเหตุของแผลเป็นแบบนูนเกินมักเกิดจากการที่ผิวหนังถูกทำลาย ที่ทำให้เซลล์ผิวหนังเสียหายและส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์หรือเนื้อเยื่อเป็นเนื้อเยื่อนูนขึ้นมาได้อย่างที่เราเห็นนั่นเอง
แผลเป็นแบบคีลอยด์ (Keloid Scar)
เป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตมากเกินไปหลังจากการบาดเจ็บและโดนทำลายเซลล์ผิวหนัง มีลักษณะเป็นก้อนนูนยกขึ้นมาและมักขยายเพิ่มเติมไปจากรอยแผลเดิม และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดคีลอยด์ได้ ทั้งทางพันธุกรรม การผ่าตัดหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือแม้แต่การรักษาและทายาไม่ถูกวิธีทำให้แผลแห้งเร็วจนเกินไปนั่นเอง
แผลแบบลึกบุ๋มหรือแผลเป็นแบบหลุม (Depressed Scar)
เป็นแผลที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกลงไปในผิวหนังซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลายหรือสูญเสีย โดยส่วนที่เสียหายจะหลุดไป ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างที่เป็นหลุมในผิวหนังโดยสาเหตุมักเกิดได้จากการบาดเจ็บที่ลึกและมีการสูญเสียเนื้อหรือเนื้อเยื่อไปค่อนข้างลึก และอีกสาเหตุที่เกิดขึ้นได้และพบบ่อยในชีวิตประจำวันเลยก็คือ สิวอุดตันหรือสิวอักเสบที่อาจทำให้เกิดแผลแบบลึกบุ๋มหลังจากการนำหนองหรือเม็ดสิวออกจากผิวไปแล้ว
หลังจากที่ได้รู้ถึงประเภทและสาเหตุของการเกิดรอยแผลเป็นแล้ว แผลเป็นยังมีวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของรอยแผลนั้นๆ เราจึงมีทริคในการเลือกใช้ยาและวิธีการที่รักษาที่จะทำให้แผลเป็น จางลง สม่ำเสมอ และ เรียบเนียนไปกับผิวหนังด้วยทริคข้อต่อไปนี้
ทริคที่ 3 รักษาแผลเป็นอย่างถูกวิธี
วิธีรักษารอยแผลเป็นมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทของรอยแผลเป็น ระยะเวลา และความรุนแรง
1. วิธีทางการแพทย์
- เลเซอร์: เลเซอร์มีหลายประเภทที่ใช้รักษารอยแผลเป็น เช่น เลเซอร์ CO2 เลเซอร์ Erbium เลเซอร์ Fraxel
- การฉีดสเตียรอยด์: การฉีดสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบ และทำให้แผลเป็นนุ่มลง
- การผ่าตัด: การผ่าตัดสามารถใช้รักษารอยแผลเป็นที่นูน คีลอยด์ หรือรอยแผลเป็นที่รุนแรง
2. วิธีบรรเทารอยด้วยตัวเอง
- การประคบเย็น: การประคบเย็นช่วยลดอาการบวมแดง และช่วยให้แผลเป็นยุบลง
- การใช้แผ่นแปะซิลิโคน: แผ่นแปะซิลิโคนช่วยลดการสร้างคอลลาเจน ช่วยให้แผลเป็นเรียบลง
- การทายา: ยาทาสำหรับรอยแผลเป็นมีหลายประเภท เช่น ยาที่มีส่วนผสมของ ซิลิโคน วิตามินซี วิตามินอี และ AHA
นอกจากนี้ยังมี 3 ส่วนผสมสำคัญช่วยดูแลแผลเป็นทุกๆประเภทได้อย่างตรงจุด ดังนี้
1. เด็กซ์แพนทีนอล (Dexpanthenol) หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ โปรวิตามินบี 5 (Provitamin B5) มีคุณสมบัติสร้างความชุ่มชื้น รักษาความยืดหยุ่นของผิว มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของเนื้อเยื่อบุผิว กระตุ้นการซ่อมแซมและสร้างเซลล์ผิว ทำให้แผลสมานกันได้ดี ลดอาการคันและป้องกันการระคายเคือง
2. อัลลันโทอิน (Allantoin) ช่วยปลอบประโลมผิว ช่วยให้ผิวอุ้มน้ำได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผิวเรียบเนียนสุขภาพดี ผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดออก กระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ผิว ลดการระคายเคือง เพิ่มความเรียบเนียนให้ผิว และมีคุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระอีกด้วย
3. กลีเซอรีน และ กรีเซอรีล กลูโคไซด์ (Glycerine & Glyceryl Glucoside)เป็นสารที่ค้นพบได้ตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติดูดน้ำให้ผิว ทำให้ผิวยืดหยุ่น ชุ่มชื้น พร้อมทั้งกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้ฟื้นคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ดีอีกด้วย
นอกจากตัวยาที่จะสามารถบรรเทารอยแผลเป็นเหล่านี้ให้เบาบางลงได้แล้วการไม่ แคะ แกะ เกา บริเวณแผลหรือรอบๆแผลสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในแผลและไม่ทำให้แผลอักเสบเพิ่มไปจากเดิม อีกทั้งยังต้องหมั่นทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนๆอยู่เป็นประจำเพื่อให้แผลหายปลอดเชื้อและหายในที่สุด
ทริคที่ 4 ทดสอบยาทาแผลเป็นก่อนใช้ เพื่อตรวจดูอาการแพ้ยา
การทดสอบยาทาแผลก่อนการใช้เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อป้องกันอาการแพ้ยาหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ เราสามารถทำการทดสอบได้ ด้วยการทดสอบยาทาแผลบนพื้นผิวของผิวหนังที่ไม่เป็นที่สำคัญ โดยทายาบนผิวหนังเล็กน้อยบริเวณใข้อเท้าหรือข้อศอก ซึ่งใช้ระยะเวลาเพื่อให้แน่ใจและปฏิกิริยาของยาทำงานประมาณ 24-48 ชั่วโมง และควรเฝ้าสังเกตอาการ เช่น ผิวหนังแดง คัน บวม หรือผื่นขึ้น เมื่อพบอาการเหล่านี้ ควรหยุดใช้ยาทาแผลและปรึกษาแพทย์ทันที และจำไว้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นยาทาแผลที่ใช้บ่อยหรือยาใหม่ ควรปฏิบัติการทดสอบเสมอก่อนการใช้เพื่อป้องกันอาการแพ้ยา
ทริคที่ 5 ทายาอย่างสม่ำเสมอเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
หลังจากที่ทดสอบการแพ้ยาและพบว่าไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆกับผิวหนังก็สามารถใช้ยาทาแผลเป็นกับรอยแผลเป็นนั้นๆได้และควรทาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ซึ่งเป็นทริคข้อสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่าแผลจะได้รับการดูแลและฟื้นฟูอย่างเหมาะสมและมีโอกาสหายหรือจางลงในที่สุด
โดยสรุปแล้วการเลือกยาทาแผลเป็นให้เหมาะกับรอยแผล ช่วยให้รอยดูจางลง เผยผิวเรียบเนียน และควรเลือกยาทาแผลเป็นตามประเภทของรอยแผล เข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาอีกทั้งยังต้องใส่ใจในการเลือกผลิตภัณ์ทาแผลเป็นที่มีส่วนประกอบในการช่วยฟื้นฟูผิวหนัง ให้ความชุ่มชื้นและสมานเซลล์ผิวได้อย่างดี พร้อมกับไม่ลืมที่จะทดสอบยาทาแผลเป็นก่อนใช้เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้ภายหลัง และทายาอย่างสม่ำเสมอเพื่อผลลัพธ์ที่ดี รักษารอยแผลเป็นให้หายได้อย่างมีประสิทธิภาพ